เรื่องราวของชาถือกำเนิดบนแผ่นดินจีนมายาวนานกว่า 5000 ปี โดยตำนานของจีนเกี่ยวกับชาที่นิยมเล่าขานกันก็คือเรื่องของฮ่องเต้เสินหนงจักรพรรดิแห่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ของจีน (ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็นจอมเทพผู้อุปถัมภ์การเกษตร การชลประทาน
และยาสมุนไพร) ตำนานเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่พระองค์กำลังต้มน้ำร้อนเพื่อเสวย ได้มีใบชาล่องลอยมาในอากาศและตกลงในกาต้มน้ำของพระองค์ ทำให้น้ำ ในกานั้นเปลี่ยนสี ฮ่องเต้เสินหนงทอดพระเนตรเห็นและทรงรู้สึก ประหลาดใจ พระองค์จึงทรงเสวยน้ำผสมใบชานั้น และทรงรู้สึกประหลาดใจถึงรสชาติและกลิ่นหอมผ่อนคลาย ชวนรู้สึกสดชื่น


ตำนานฮ่องเต้เสินหนงกับใบชานี้ต่อมาได้พัฒนาเป็นหนังสือว่าสารพัดเรื่องเกี่ยวกับชาที่มีชื่อเสียงมาก คือ The Classic of Tea หรือ chájīng ประพันธ์โดยปรมาจารย์ผู้รอบรู้ด้านชานามว่า หลู่หยู ซึ่งเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง อันช่วงที่การดื่มชารุ่งโรจน์มาก เพราะเป็นช่วงที่บ้านเมืองห่างเหินจากสงคราม ผู้คนจึงมีแก่ใจที่จะเสพศิลปะวัฒนธรรมกันเต็มที่ หนังสือเล่มสำคัญของปรมาจารย์หลู่หยูนี้มีเนื้อหาว่าด้วยเคล็ดลับในการเก็บใบชา การปลูกขา และการชงชาแบบละเมียดละไม มีแบบมีแผน ทั้งนี้ผู้คนที่ดื่มชาในสมัยราชวงศ์ถังส่วนใหญ่จะดื่มชาในเชิงยาสมุนไพรรักษาโรคมากกว่าเพื่อความเพลิดเพลิน เพราะเชื่อว่าชาสามารถรักษาโรคได้หลากหลาย และในยุคนี้มีเพียงชาชนิดเดียวที่คนจีนรู้จัก ซึ่งก็คือ “ชาเชียว” นั่นเอง
ในสมัยราชวงศ์ถังมีวัฒนธรรมการผลิตชาที่เรียกว่า “ Dried Tea Cake” ซึ่งเริ่มจากการเก็บคัดใบชาอย่างพิถีพิถัน ล้างใบชาจนสะอาด ผึ่งลม แล้วจึงนำไปนึ่ง และบด จากนั้นตีขึ้นรูปเป็นก้อน แล้วนำไปอบอีกครั้ง และท้ายสุดคือการบรรจุหีบห่อ เวลาจะชงก็จะนำก้อนชาที่ขึ้นรูปไว้นั้นมาบดจนละเอียด แล้วนำผงชาที่บดได้ใส่ลงไปในกาต้มน้ำที่เดือดอ่อน ๆ จากนั้นจึงใช้ที่คนซึ่งทำจากกิ่งไผ่ค่อย ๆ คนชาและน้ำร้อนให้เข้ากัน ความสนุกของการดื่มชาแบบยุคถังอีกประการ คือ จะมีการเติมเครื่องปรุงและเครื่องเทศต่าง ๆ ลงไปในชา เช่น เกลือ หอมแดง ผิวส้ม ขิง สะระแหน่ เป็นต้น แต่พฤติการณ์นี้ได้ถูกคัดค้านโดยปรมาจารย์หลู่หยู เพราะท่านเห็นว่าการเติมเครื่องปรุงและเครื่องเทศต่างๆ ลงไป จะทำให้น้ำชาสูญเสียกลิ่นและรสดั้งเดิมตามธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น แต่ท่านหลู่หยูเองก็ประนีประนอมด้วยการให้ใส่ได้เพียงแค่เกลือ
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง วัฒนธรรมการดื่มชาได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชสมัยซ่งไท่จง ต้นราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้มีการทำชาที่ใช้เฉพาะในราชสำนัก เรียกว่า “ชาก้อนมังกรหงส์” เนื่องจากมีการตกแต่งโดยทำการอัดขึ้นลายมังกรหงส์บนแผ่นชา และในยุคซ่งนี้เองที่เป็นยุคซึ่งให้กำเนิด ชุดเครื่องเคลือบสำหรับชงชาที่มี่ชื่อเสียงมาก และใช้เฉพาะในวังหลวงเท่านั้น คือ เครื่องเคลือบ หรู เหยา (Ru Yao) ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือมีสีฟ้าอมเขียว และลวดลายลักษณะคล้ายน้ำแข็งแตก
ในสมัยราชวงศ์หมิง การดื่มชาได้ย้อนกลับสู่ความเรียบง่าย เพียงแค่หยิบเอาใบชาแห้งมาใส่กา แล้วชงในน้ำร้อน ประพฤติเหตุเช่นนี้เกิดจากการที่ฮ่องเต้จูหยวน ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงมีพื้นเพเป็นชาวบ้านมาก่อนและทรงเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมการดื่มชาที่สลับซับซ้อนนั้นสะท้อนความเป็นอยู่หรูหราโอ่อ่าของบรรดาคนชั้นสูงและเหล่าขุนนาง เป็นความฟุ้งเฟ้ออันเป็นบ่อเกิดแห่งความถดถอยเสื่อมสิ้นของราชวงศ์ จึงทรงปฏิวัติการดื่มชาเสียใหม่ให้เหลือเพียงความเรียบง่าย และในราชวงศ์หมิงนี้เองที่ชาวจีนได้รู้จักชาเพิ่มอีก 6 ชนิด ซึ่งรวมถึงชาดำและชาอู่หลง อีกทั้งการส่งออกชาไปจำหน่ายต่างบ้านต่างเมืองจนชาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกก็เกิดขึ้นในสมัยนี้เช่นกัน

