จากดินแดนที่ไม่เคยรู้จักชา สหราชอาณาจักรกลับกลายเป็นประเทศที่หลงรักชาและดื่มชากันจนเป็นกิจวัตรประจำวันเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยที่มานั้นเกิดจากการแต่งงานของพระเจ้าชาร์ลที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Charles II) และเจ้าหญิงแห่งโปรตุเกสนามว่า แคทเธอรีน ออฟ บรากันซา Catherine of Braganza) ซึ่งเจ้าหญิงผู้นี้เป็นผู้รักการดื่มชาอย่างยิ่งและเป็นผู้วางรากฐานการดื่มชาในสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง พระองค์เป็นผู้รับสั่งให้บริษัท East India นำเข้าชาจีนจากเกาะชวา นับว่าเป็นชาล็อตแรกที่เข้าสู่สหราชอาณาจักร แต่ขณะนั้นก็เป็นการบริโภคกันแต่ในเฉพาะหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้น
ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ความนิยมชาในสหราชอาณาจักรก็ทวีคูณขึ้นอย่างมาก สามัญชนเองก็ต้องการดื่มชาเช่นกัน แต่ราคาชากลับแพงเกินกว่าคนทั่วไปจะซื้อหาได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดขบวนการลักลอบขนชาอย่างผิดกฎหมายเพื่อจำหน่ายให้ให้คนที่ต้องการดื่มชา อย่างไรก็ตาม การเปลี่บนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าชาของอังกฤษก็มาถึง เมื่อ William Pitt the Younger รัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสู่สหราชอาณาจักร ได้ลดภาษีชาจาก 119% เหลือแค่เพียง 12.5% จนทำให้ขบวนการลักลอบขนชาถึงกาลวิบัติในทันที และส่งผลให้ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงการดื่มชาได้อย่างง่าย


จะว่าไปอันที่จริงแล้วการดื่มชาแบบอังกฤษที่แสนโด่งดังนั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมชั้นสูงเลิศเลอแตกต่างจากวัฒนธรรมการดื่มชาของประเทศอื่น ๆ เลย เพียงแต่คนอังกฤษดื่มชากันเป็นกิจวัตรประจำวัน และแบ่งการดื่มชาให้สนุกขึ้นแบบมื้ออาหาร แต่ที่เรารู้จักกันดี คือ Afternoon tea หรือการจิบชายามบ่าย โดยจะมีการนัดกันมาดื่มชายามบ่ายที่บ้านใครสักคน พร้อมเสิร์ฟของว่างประเภทแซนด์วิชชิ้นเล็กๆ หรือของหวาน สำหรับชนชั้นทำงาน หรือคนชั้นกลาง จะมีการพักดื่มชาประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนายจ้างจะอนุญาตเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย อาจจะเป็นการพักดื่มชาสายครั้งหนึ่งและบ่ายอีกครั้งหนึ่ง หรือแค่ครั้งเดียวก็ได้

